เกี่ยวกับเรา : About Us

จากอดีต ตำบลทุ่งสุขลามีสถานบริการสาธารณสุขภาครัฐที่ทำหน้าที่ให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนเพียง 1 แห่ง ได้แก่ สถานีอนามัยตำบลทุ่งสุขลา  ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา

 ปี พ.ศ.2530 กระทรวงสาธารณสุข ได้อนุมัติงบประมาณ ปี 2530 จำนวน 1,224,000 บาท เป็นค่าก่อสร้างโรงพยาบาลสาขาอ่าวอุดมศรีราชา เพื่อเป็นการเตรียมการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนตามแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก

ต่อมา ผู้นำชุมชนและประชาชนต้องการยกฐานะสถานีอนามัยตำบลทุ่งสุขลา เป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 10 เตียง โดยสถานีวิจัยศรีราชา  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้แบ่งที่ดิน จำนวน 30 ไร่ เพื่อใช้สร้างโรงพยาบาล ในการนี้ มูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา โดย คุณเทียม โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัทเครือสหพัฒนพิบูลย์ จำกัด ได้บริจาคค่าก่อสร้างอาคารโรงพยาบาล  ขนาด  10  เตียง  จำนวน  3,000,000  บาท  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายตามโครงการสร้างงานในชนบท  จากสมาชิกสภาพผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี  คุณนิคม  แสนเจริญ  และคุณจรูญ  งามพิเชษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านละ 100,000 บาท รวมเป็น 200,000 บาท และบริษัท พระภิกษุ กำนัน ผู้ใหญ่ พ่อค้า ประชาชนร่วมสมทบ การก่อสร้างอาคารและซื้อครุภัณฑ์การแพทย์ จำนวน 1,299,724 บาท

วันที่ 10 สิงหาคม 2530 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารโรงพยาบาลชุมชน 10 เตียง ประธานในพิธี ได้แก่ นายสืบ รอดประเสริฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี การก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จในวันที่ 5 ธันวาคม 2530 และได้รับการกำหนดชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โรงพยาบาลอ่าวอุดมอำเภอศรีราชา”  ตั้งแต่นั้นมา โดย นายแพทย์สุภาชัย สาระจรัส เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่านแรก

วันที่ 27 เมษายน 2531 มีการจัดพิธีเปิดโรงพยาบาลอ่าวอุดมอำเภอศรีราชา โดย ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายเทิดพงษ์ ไชยนันท์  เป็นประธาน

ปีงบประมาณ 2533 โรงพยาบาลได้รับการยกฐานะจากโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 10 เตียง เป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 30 เตียง

ปีงบประมาณ 2538 โรงพยาบาลยกระดับข้ามขั้นจากโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 30 เตียง ไปเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 90 เตียง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern  Sea  Board)

ต่อมาได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารใหม่ขนาด 4 ชั้น ชื่อ “อาคารสิรินธร”  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2539 และเปิดใช้อาคารเพื่อให้บริการประชาชน  ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2542

หลังจากที่โรงพยาบาลได้เปิดให้บริการประชาชนต่อเนื่อง 25 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2531-2555 ภายใต้ชื่อ "โรงพยาบาลอ่าวอุดมอำเภอศรีราชา"  ก็มีมติจากที่ประชุมคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล หัวหน้าส่วนราชการ  และคณะกรรมการชุมชน 23 ชุมชน ในเขตเทศบาลแหลมฉบัง  ในเดือนมีนาคม  2555 เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อ "โรงพยาบาลอ่าวอุดมอำเภอศรีราชา" เป็น "โรงพยาบาลแหลมฉบัง" ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ โรงพยาบาลตั้งอยู่ในพื้นที่เทศบาลนครแหลมฉบัง และชื่อ "แหลมฉบัง" เป็นพื้นที่ซึ่งสาธารณสุขชนทั่วไปรู้จักกันดี  การเสนอเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลจึงเปรียบเสมอนการประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลในอีกทางหนึ่งด้วย

 เมื่อปี พ.ศ.2558 เป็นโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย ขนาด M2 (91-120) มีอัตราการคองเตียงอยู่ที่ 114 เตียง โดยมี นายแพทย์ราเมศร์ อำไพพิศ เป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาลคนปัจจุบัน